เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่กับภาวะมีบุตรยาก


เรียบเรียงโดย พญ.พิชชา ปิ่นจันทร์ 

เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ Endometriosis กับภาวะมีบุตรยาก

การเกิดโรคมีหลายทฤษฎี ที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดคือการที่ประจำเดือนไหลย้อนกลับเข้าสู่ช่องท้องโดยผ่านทางท่อนำไข่ แล้วไปฝังตัวในอุ้งเชิงกราน ตำแหน่งที่พบบ่อย คือ รังไข่ บริเวณด้านหลังของมดลูกหน้าท่อลำไส้ใหญ่เนื่องจากเป็นตำแหน่งที่ต่ำที่สุดในร่างกายเวลายืน และอวัยวะในอุ้งเชิงกรานอื่นๆ เช่น กระเพาะปัสสาวะ ลำไส้ใหญ่ หรือเยื่อบุผิวของช่องท้องในตำแหน่งต่างๆ ฯ เมื่อมีประจำเดือนเยื่อบุโพรงมดลูกที่อยู่ผิดที่เหล่านี้จะสร้างเลือดประจำเดือนและสารเคมีอื่นๆออกมากระตุ้นให้เกิดการอักเสบในอุ้งเชิงกราน

ซึ่งทำให้เกิดอาการปวดท้องน้อยขณะมีประจำเดือน ปวดร้าวลงก้นหรือต้นขา เมื่อการอักเสบเกิดต่อเนื่องยาวนานทำให้เกิดพังผืดยึดติดระหว่างอวัยวะ ตามมาด้วยอาการปวดท้องน้อยเรื้อรัง ปวดท้องน้อยมากขณะมีเพศสัมพันธ์ รวมทั้งภาวะมีบุตรยาก และยังพบว่ารอยโรคอาจไม่สัมพันธ์กับความรุนแรงของอาการแสดง เช่น ปวดท้องขณะมีประเดือนไม่มากแต่มีถุงน้ำช็อกโกแลตขนาดใหญ่ ในขณะที่บางรายมีอาการปวดท้องมากจนเป็นลมแต่มีรอยโรคขนาดเล็กที่ฝังตัวใกล้เส้นประสาทเท่านั้น

นอกจากเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่จะทำให้เกิดพังผืดมีผลให้ตำแหน่งของรังไข่ ท่อนำไข่ไม่สัมพันธ์กัน ไข่ที่ตกจากรังไข่อาจไม่สามารถเดินทางเข้าสู่ปลายท่อนำไข่ หรือทำให้ท่อนำไข่ตัน ยังพบว่ามีการสร้างสารเคมีจำนวนมากที่กระทบต่อการทำงานของรังไข่ ไข่ อสุจิ ตัวอ่อน การทำงานของท่อนำไข่ การฝังตัวของตัวอ่อนที่เยื่อบุโพรงมดลูก รวมทั้งการเคลื่อนไหวของเยื่อบุโพรงมดลูกในทิศทางที่ผิดปกติด้วย

 

fullsizeoutput 1531

Credit ภาพ : 5minuteconsult.com
การวินิจฉัยโรค ถ้าจะให้วินิจฉัยได้ถูกต้องสมบูรณ์ ต้องทำผ่าตัดให้ได้ชิ้นเนื้อมาส่งตรวจทางพยาธิวิทยา การตรวจอัลตราซาวด์ ซีทีสแกน มีข้อจำกัดที่ต่างกันอาจมีความแม่นยำแต่ไม่100% แพทย์จะเลือกการผ่าตัดในกรณีมีข้อบ่งชี้ เช่น ถุงน้ำช็อกโกแลตขนาดใหญ่ มีอาการปวดท้องน้อยเรื้อรัง ปวดท้องขณะมีประจำเดือนมากหรือไม่สามารถควบคุมโรคได้ด้วยยา ฯ

สำหรับการรักษานั้น เราต้องเข้าใจก่อนว่า โรคนี้ถือเป็นโรคเรื้อรัง เนื่องจากสัมพันธ์กับฮอ์โมนเพศหญิงซึ่งสร้างจากรังไข่ ตัวโรคจะสงบเมื่อเข้าสู่วัยทอง(วัยหมดประจำเดือน) หรือตัดรังไข่ออกทั้งสองข้าง ดังนั้นการรักษาจึงต้องพิจารณาเป็นรายๆไปตามปัจจัยที่แตกต่างกัน และเป็นการวางแผนการรักษาในระยะยาว เพื่อลดการเกิดซ้ำหรือควบคุมไม่ให้โรครุนแรงขึ้น พิจารณาตาม อายุ ความต้องการมีบุตร ความรุนแรงของโรค สาเหตุของภาวะมีบุตรยาก

การรักษาโรคมีตั้งแต่ การใช้ยาซึ่งก็มีมากมายหลายชนิด เช่น การรับประทานยาคุมกำเนิดชนิดเม็ด การฉีดยาคุมกำเนิด การใส่ห่วงคุมกำเนิดชนิดที่มีฮอร์โมน ยาฮอร์โมนกลุ่มโปรเจสติน การฉีดฮอร์โมนกดต่อมใต้สมองเพื่อยับยั้งการทำงานของรังไข่ สำหรับการผ่าตัด อาจใช้การผ่าตัดแบบconservative คือเอาเฉพาะรอยโรคออก เลาะพังผืดให้ตำแหน่งของมดลูก ท่อนำไข่ รังไข่กลับมาอยู่ในตำแหน่งที่ปกติ กรณีนี้เลือกทำในสตรีที่ยังต้องการมีบุตร (พิจารณาเป็นรายๆไป) หรือผ่าตัดมดลูกและรังไข่ออกทั้งหมดในกรณีที่ไม่ต้องการมีบุตรแล้ว

ส่วนจะรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยวิธีใด เช่น ฉีดเชื้อผสมเทียม หรือ ทำเด็กหลอดแก้วนั้นต้องพิจารณาอย่างละเอียด
กรณีที่กายวิภาคของอวัยวะในอุ้งเชิงกรานปกติ รังไข่ปกติ อสุจิปกติหรืออ่อนเล็กน้อยสามารถใช้การฉีดเชื้อผสมเทียมได้
กรณีมีข้อบ่งชี้ต่อไปนี้ควรทำผ่าตัดก่อนการทำเด็กหลอดแก้ว เช่น ถุงน้ำช็อกโกแลตโตเร็ว ภาพอัลตราซาวด์สงสัยเนื้อร้าย มีอาการปวดท้องขณะมีประจำเดือนมาก เรียกว่าถ้ามีก้อนที่ไม่แน่ใจว่าเป็นเนื้อร้ายหรือไม่ หรือมีอาการปวดท้องมากจะแนะนำให้ผ่าตัด แต่ในรายที่อาการไม่มากและไม่สงสัยเนื้อร้าย มีถุงน้ำช็อกโกแลตที่รังไข่ทั้งสองข้าง หรือเคยผ่าตัดรังไข่ซ้ำหลายครั้งจะแนะนำให้ใช้ยาควบคุมโรคมากกว่าการผ่าตัด

เนื่องจากการผ่าตัดรังไข่มักเกิดการบาดเจ็บต่อเนื้อรังไข่ที่เหลืออยู่ทำให้ปริมาณไข่น้อยลง อาจกระตุ้นได้จำนวนไข่น้อยลงหรือบางกรณีอาจไม่ได้ไข่จากรังไข่ นอกจากนี้การผ่าตัดเลาะพังผืดให้มดลูก รังไข่ ท่อนำไข่กลับมาอยู่ในตำแหน่งปกตินั้นมีโอกาสเกิดพังผืดซ้ำซึ่งมักติดแน่นกว่าเดิมได้ การทำผ่าตัดซ้ำจะทำกรณีที่จำเป็นเท่านั้นเพื่อไม่ทำให้รังไข่ที่เหลือบาดเจ็บเพิ่มเติมและลดภาวะแทรกซ้อนต่ออวัยวะใกล้เคียงที่อาจเกิดจากการเลาะพังผืดที่ติดแน่น เช่น ลำไส้ ท่อไต เป็นต้น